@ สภาพพื้นที่โดยทั่วไป
ข้อมูลชุมชน
คำขวัญอำเภอนิคมพัฒนา
“สับปะรดหวานฉ่ำ อุตสาหกรรมน้อยใหญ่ เลื่องลือไกลหลวงพ่อชื่น เริงรื่นงานหลวงเตี่ย”
ประวัติความเป็นมา
อำเภอนิคมพัฒนา เดิมเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอบ้านค่าย ทางราชการได้แบ่งพื้นที่การปกครองออกมาตั้งเป็นกิ่งอำเภอนิคมพัฒนา ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2539 โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม ปีเดียวกัน และต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกา ยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550
ที่ตั้งและอาณาเขต
อำเภอนิคมพัฒนาตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัดระยอง ระยะหางจากจังหวัดระยอง ประมาณ 27 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 267.50 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 167,187.50 ไร่
มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอปลวกแดง
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอบ้านค่าย
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอเมืองระยองและอำเภอบ้านฉาง
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอบางละมุง (จังหวัดชลบุรี)
การแบ่งเขตการปกครอง
อำเภอนิคมพัฒนา แบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น 4 ตำบล 30 หมู่บ้าน ได้แก่
1. นิคมพัฒนา (Nikhom Phatthana) 7 หมู่บ้าน
2. มาบข่า (Map Kha) 8 หมู่บ้าน
3. พนานิคม (Phana Nikhom) 8 หมู่บ้าน
4. มะขามคู่ (Makham Khu) 7 หมู่บ้าน
การปกครองส่วนท้องถิ่น
ท้องที่อำเภอนิคมพัฒนาประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 6 แห่ง ได้แก่
1. เทศบาลเมืองมาบตาพุด ครอบคลุมพื้นที่ตำบลมาบข่า (เฉพาะพื้นที่บางส่วนของหมู่ที่ 3, 6) รวมถึงตำบลห้วยโป่งและตำบลมาบตาพุดทั้งตำบล ตำบลเนินพระ (เฉพาะบางส่วนของหมู่ที่ 4–7) และตำบลทับมา (เฉพาะบางส่วนของหมู่ที่ 5) ในเขตอำเภอเมืองระยอง
2. เทศบาลตำบลนิคมพัฒนา ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนิคมพัฒนา(เฉพาะบางส่วนของหมู่ที่ 1–2)
และตำบลมาบข่า(เฉพาะบางส่วนของหมู่ที่5,8)
3. เทศบาลตำบลมะขามคู่ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลมะขามคู่ทั้งตำบล
4. เทศบาลตำบลมาบข่าพัฒนา ครอบคลุมพื้นที่ตำบลมาบข่า (นอกเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุดและเทศบาลตำบลนิคมพัฒนา)
5.องค์การบริหารส่วนตำบลนิคมพัฒนา ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนิคมพัฒนา (นอกเขตเทศบาลตำบลนิคมพัฒนา)
6.องค์การบริหารส่วนตำบลพนานิคม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลพนานิคมทั้งตำบล
ลักษณะภูมิประเทศ
สภาพพื้นที่อำเภอนิคมพัฒนา โดยทั่วไปเป็นที่ราบและเป็นเขาโดยมีเทือกเขาและเป็นที่ราบและส่วนที่เป็นเนินเขามีเทือกเขาที่สำคัญ 6 เทือก คือ เทือกเขาจอมแห เทือกเขาภูนั่งยอง เทือกเขามะพูด เทือกเขาหินโค่ง เทือกเขาทุ่งแฝก และเทือกเขาเขลง มีพื้นที่ป่าไม้เขาจอมแห (เขตป่าไม้สมบัติส่วนกลางของนิคมสร้างตนเองจังหวัดระยอง) เนื้อที่ 4600 ไร่ อยู่ในบริเวณ หมู่ที่ 7 ตำบลมะขามคู่ มีแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ คลองชากเจ้าเดียว คลองปลวกแก้ว คลองพลู คลองชากอ้อน คลองลึก คลองเปลงกระทิง คลองไม้ตายเห่า คลองหนองระกำ คลองชากใหญ่ คลองกระเฉท คลองป่าแดงคลองหนองหิน และมีอ่างเก็บน้ำดอกกรายอยู่ทางตอนเหนือของพื้นที่
ลักษณะสภาพภูมิอากาศ
ลักษณะของอากาศเป็นแบบมรสุมมี 3 ฤดู คือ
ฤดูร้อน เริ่มเดือน มีนาคม - พฤษภาคม
ฤดูฝน เริ่มเดือน มิถุนายน - ตุลาคม
ฤดูหนาว เริ่มเดือน พฤศจิกายน - กุมภาพันธ์
ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,400 มิลลิเมตรต่อปี ฤดูฝนจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึงเดือนตุลาคม และตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนกุมภาพันธ์ปริมาณน้ำฝนน้อยลงเข้าสู่ฤดูหนาว เดือนกรกฎาคม มักจะประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงสำหรับเดือนที่มีน้ำฝนสูงสุดของแต่ละปีคือเดือนตุลาคม
ประชากร
ประชากรส่วนใหญ่ เป็นคนอพยพมาจากต่างถิ่น จากฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ ปราจีนบุรี สุพรรณบุรี ชลบุรี เพื่อจับจองที่ดินทำกิน และการจัดที่ทำกินของนิคมสร้างตนเองจังหวัดระยอง การถือครองที่ดิน เกษตรกรได้รับการจัดสรรที่ดินให้เข้าทำกินจากนิคมสร้างตนเองจังหวัดระยอง ครอบครัวละ ประมาณ 24 ไร่ เกษตรกรประมาณ 70 % ยังประกอบอาชีพด้านการเกษตร ที่ดินบางส่วนของนายทุนและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งขยายต่อเนื่องมากจากมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมบ่อวินชลบุรี อีสเทิร์น
ซีบอร์ดปลวกแดง
เข้าชม : 477 |